วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเพณีบุญผะเหวด

ประเพณีบุญผะเหวด
ความสำคัญ 
บุญผะเหวด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บุญมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน ก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไป ของชาวอีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือน ๓ พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาติและในงานนี้ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ไปเกิดในภพหน้า


 
พิธีกรรม 

าวอีสาน จะจัดทำบุญผะเหวด ปีละ ๑ ครั้ง ระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ไปจนถึงกลางเดือน ๕ จังหวัดร้อยเอ็ด จะจัดประเพณีบุญผะเหวดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี โดยจะมีวันรวมตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลาหรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมารรอบๆ ศาลาการเปรียญจะแขวนผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์สุดท้าย การจัดงานบุญผะเหวด หรือ งานเทศน์มหาชาตินิยมที่อัญเชิญพระอุปคุต มาปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชค ลาภแก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติ จึงมีการแห่พระอุปคุต ซึ่งสมมุติว่า อัญเชิญมาจาก สะดือทะเล 

สาระ 
บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัวเพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป นอกจากนี้ยังเป็นการสังสรรค์ ระหว่างญาติพี่น้องจากแดนไกลสมกับคำกล่าวที่ว่า "กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ"
 
ประวัติความเป็นมาพอสังเขป
บุญพระเวส หรือ บุญมหาชาติ ซึ่งเป็นการทำบุญในเดือนสี่ บางครั้งก็เรียก “ บุญเดือนสี่” ในบางท้องถิ่นจะทำบุญเดือนนี้ในเดือนสามรวมกับบุญข้าวจี่และบุญกุ้มข้าวใหญ่ ให้เป็นบุญเดียวกันส่วนเดือนสี่ก็เว้นไว้ บุญผะเหวดส่วนมากจะกระทำกันในเดือนสี่ แต่จะกำหนดเอาไว้วันใดนั้นแล้วแต่ความพร้อม เพราะว่าต้องมีการปรึกษาหารือและลงมติกันระหว่างผู้นำในหมู่บ้าน เช่น ผู้อาวุโส กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพระสงฆ์ ตลอดผู้ทรงวุฒิต่างๆ ในหมู่บ้านการทำบุญผะเหวด เป็นการทำบุญเนื่องด้วยการรำลึกถึงอดีตชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าที่ไ้ด้็เกิดมาเป็นพระเวสสันดร และได้บำเพ็ญทานบารมีอย่างแก่กล้า บรรพบุรุษชาวอีสานได้นำมาประสมประสานกับการละเล่นพื้นบ้านให้เกิดความสนุกสนานรื่นเริง ตามนิสัยรักสนุกของชาวอีสานแต่กำเนิดนั้นเอง การกำหนดวันงาน มี ๒ วัน คือ วันโฮม (วันรวม) และ วันฟังเทศน์ ในวันโฮมฝ่ายสตรีแม่บ้านทั้งหลาย จะเป็นผู้จัดบ้านเรือนไว้รับแขกบ้านอื่นและสตรีทำข้าวปุ้น (ขนมจีน)ไว้ทุกบ้านเรือน เตรียมของหวาน หมากพลู บุหรี่ และที่นอนไว้คอยรับแขกด้วย เพราะอาจจะมีผู้มาพักค้างคืน ส่วนฝ่ายชายซึ่งเป็นพ่อบ้านจะพากันไปเตรียมไว้ที่วัด จัดสถานที่ ทำที่ฟังเทศน์ ประดับประดาธรรมาสน์ ปักธงทิวไว้รอบวัด และทำที่หออุปคุต รูปนก รูปสัตว์ แขวนไว้ที่ศาลาการเปรียญ สำหรับพระภิกษุ-สามเณร ก็เตรียมสถานที่ต้อนรับพระภิกษุสามเณร ที่มาจากบ้านอื่น ที่จะต้องมาพักแรมเพื่อร่วมเทศน์ในวันรุ่งขึ้นพิธีแห่อุปคุต ในตอนเย็นของวันรวม จะมีการอัญเชิญพระอุปคุตจากแหล่งน้ำมาสู่ศาลาวัด มีเรื่องราวกล่าวไว้ว่า ในอดีตพระอุปคุต ซึ่งเป็นพระเถระผู้ทรงฤทธิ์ นิรมิตกุฏิ อยู่กลางแม่น้ำใหญ่ สามารถปราบภูตผีปีศาจได้ ครั้งสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช ได้รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากที่ต่างๆ มาบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมาใหม่ เสร็จแล้วจะทำการฉลองจึงทรงปริวิตกถึงมารผู้เป็นศัตรูคู่เวรของพระพุทธเจ้าจึงทรงรับสั่งให้ไปนิมนต์พระอุปคุตมาในพิธีฉลองนั้น เมื่อมารรู้ว่าพระเจ้าอโศกมหาราชจะฉลองสถูปเจดีย์ก็มาแสคงฤทธิ์โต้ตอบกับพระอุปคุต ครั้งสุดท้ายพระอุปคุตได้เนรมิตหนังสุนัขเน่า ผูกแขวนคอมารไว้ มารไม่สามารถแก้ให้หลุดได้ในที่สุดมารก็ยอมแพ้ พระอุปคุตจึงแก้หนังสุนขออกจากคอมารและนำเอาตัวไปกักขังไว้บนยอดเขา การฉลองพระสถูปเจดีย์ ครั้งนั้นจึงปลอดภัยและสำเร็จลงด้วยดี ดังนั้น บุญผะเหวดจึงนำเรื่องราวของพระอุปคุตมาเกี่ยวข้อง โดยถือความเชื่อจากเรื่องราวดังกล่าวนั้น จัดเป็นหอเล็กๆ ข้างในบรรจุอัฐบริขารไว้ครบชุด เรียกว่า “ หออุปคุต ”ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของศาลาการเปรียญ เพื่อให้งานบุญผะเหวดมีความสงบเรียบร้อยด้วยประการทั้งปวงการทำบุญผะเหวด มีกิจกรรมเป็นขั้นตอน ดังนี้ ๑. การใส่หนังสือ เมื่อได้กำหนดวันงานแล้ว จะกำหนดการใส่หนังสือคือเอาหนังสือใบลานหรือ “ลำผะเหวด” มาแบ่งย่อยๆออกประมาณ ๓๐-๔๐ ผูกเป็นชุดแล้วนำเอาหนังสือที่แบ่งไว้นั้น ไปให้ตามวัดต่างๆ เพื่อพระสงฆ์จากวัดนั้นๆ จะนำไปเทศน์ตามวันที่กำหนดไว้โดยที่พระจะทราบเองว่าใบลานชุดของตัวเองได้มานี้อยู่กัณฑ์ไหน เมื่อถึงผูกของตนก็จะนำขึ้นไปเทศน์และทั้งหมดนั้นจะเป็นอักษรตัวธรรม การกระทำเช่นนี้เรียกว่า “การใส่หนังสือ”๒. การแห่ผะเหวด และ การแห่ข้าวพันก้อน ในตอนเย็นของวันโฮมจะมีการไปรวมกันที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสมมติกันว่าเป็นป่า ตามเรื่องราวในพระเวสสันดรชาดกและพากันแห่ผ้าซึ่งเขียนภาพเป็นเรื่องราวพระเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ เข้สู่หมู่บ้าน ตามระยะทางจะมีผู้ตั้งหม้อน้ำหอมไว้ สำหรับให้ผู้ที่แห่ผะเหวดไว้เอาดอกไม้จุ่มเป็นการบูชาพระเวสสันดร พอถึงบริเวณวัดก็จะนำผ้าไปขึงไว้บริเวณรอบศาลาการเปรียญหมู่บ้านบางแห่งจะแห่ข้าวพันก้อนไปด้วย แต่ส่วนใหญ่นิยมแห่ข้าวพันก้อนในตอนเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น“ ข้าวพันก้อน ” หมายถึง ข้าวเหนียวทำเป็นก้อนเล็กๆ โดยการแบ่งคนละกัณฑ์ หรือ คุ้มละ ๕ กัณฑ์ ก็ได้ แล้วไปจัดทำข้าวมาตามจำนวนพระคาถาในแต่ละกัณฑ์บ้านละเล็กบ้านละน้อยเข้ากันได้ ๑,๐๐๐ ก้อน และนำมาถวายพุทธบูชา ในวันเทศน์มหาชาติ เป็นการบูชา “ พระคาถา”และมีชื่อดังนี้
 
๑. ทศพร ๑๙ พระคาถา
๒. หิมพานต์ ๑๓๔ พระคาถา
๓. ทานกัณฑ์ ๒๐๙ พระคาถา
๔. วนปเวส ๕๗ พระคาถา
๕. ชูชก ๗๙ พระคาถา
๖. จุลพน ๓๕ พระคาถา
๗. มหาพน ๘๐ พระคาถา
๘. กุมาร ๑๐๑ พระคาถา
๙. มัทรี ๙๐ พระคาถา
๑๐. สักกบรรพ์ ๔๓ พระคาถา
๑๑. มหาราช ๖๙ พระคาถา
๑๒. ฉกษัตริย์ (หกกษัตริย์) ๓๖ พระคาถา
๑๓. นครกัณฑ์ ๔๖ พระคาถา

นอกจากนี้ยังมีธงทิวอีก ๑,๐๐๐ ผืนซึ่งมีจุดประสงค์ให้ครบ ๑,๐๐๐ คาถาเหมือนกับ ข้าวพันก้อน จะปักไว้หน้าพระ พุทธรูป หรือ ตามธรรมาสน์ หรือ วางไว้ตามต้นเสาธงทิว ธงทิว ทำเป็นรูปช้าง ม้า เจดีย์ และอื่นๆ ขึงให้ยาวประมาณ ๑๐ เมตร ปักอยู่บนรอบบริเวณวัด
        เรื่อง พระเวสสันดร มีคติสอนใจหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องทานบารมี ทำให้คนฟังมีความซาบซึ้งในเนื้อหาและสนุกสนานในทำนองเทศน์ไปด้วย การเทศน์
ทำนองดังกล่าว เรียกว่า “ แหล่ผะเหวด ” ชาวบ้านจะไปนิมนต์พระเสียงดีมาเป็นพิเศษเรียกว่า “ เทศน์เสียง ”พระนักเทศน์เสียงเก่าๆ เป็นพระนักเทศน์อาชีพ มีผู้ฟังนิยมมากเหมือนกับ“ หมอลำ ”ที่ลำเก่งๆชาวอีสานถือคติว่าผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติครบพันพระคาถาในวันเดียว ผู้นั้นจะมีบุญบารมีมากไม่ตกนรก และจะได้ไปเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สุดท้าย คือ พระศรีอริยเมตไตรยหรือที่ชาวอีสานเรียกว่า พระศรีอารย์ การเทศน์มหาชาตินั้นในอดีตจะเทศน์ให้จบทั้งพระพันคาถาในวันเดียว ตั้งแต่เวลาเช้ามืดจนถึงค่ำมืดเลยทีเดียว
๑. การแห่พระอุปคุต จากแหล่งน้ำสู่หอพระอุปคุตบนศาลาที่จะมีการเทศน์มหาชาติ
๒. การเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ โดยจะเริ่มตั้งแต่เช้า-เย็น
๓. การแห่กัณฑ์หลอน ในขณะที่พระภิกษุกำลังเทศน์มหาชาติอยู่นั้น ชาวบ้านจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ หาดนตรีพื้นบ้าน แห่กันไปในหมู่บ้าน เพื่อเรี่ยไรทรัพย์สินเงินทองขอ
งชาวบ้านมาทำเป็นกัณฑ์เทศน์ เมื่อรวบรวมได้พอสมควรแล้ว ก็จะแห่เข้ามาในวัดโดยไม่บอกกล่าวไว้ล่วงหน้า กัณฑ์เทศน์ที่ลักลอบเข้ามาเช่นนี้ เรียกว่า “ กัณฑ์หลอน ”
ส่วนมากกัณฑ์หลอนจะเข้ามาตอนบ่ายหรือตอนค่ำ ซึ่งมักจะไม่ตรงกับการเทศน์ กัณฑ์มัทรีกุมาร ชูชก มหาราช ถ้ากัณฑ์หลอนเข้ามาในช่วงพระรูปใดกำลังเทศน์อยู่พระรูปนั้นก็จะได้รับกัณฑ์หลอนนั้นเองบุญผะเหวดนี้ นิยมกระทำกันในภาคอีสานจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ส่งเสริมขึ้นมากเป็นพิเศษ ให้เป็นงานเทศกาลประจำปีของจังหวัดและมีโครงการของหน่วยงานราชการ และหน่วยงานเอกชนเข้าร่วมอีกมากมาย เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชมงานเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี เป็นบุญประเพณีที่มีการเทศน์มหาชาติเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดร้อยเอ็ด โดยเฉพาะจังหวัดได้กำหนดให้เป็นงานประเพณีประจำปีของจังหวัดและจัดได้ยิ่งใหญ่มากเป็นไปตามฮีต 12 คือหมายถึงเดือนสี่มีการทำบุญผะเหวดดังคำกล่าวไว้ในฮีตว่า

ฮีตหนึ่ง พอเถิงเดือนสี่ได้ให้เก็บดอกบุปผา หามาลา
ดวงหอมสู่ตนเก็บไว้
อย่าได้ไลคองนี้เสียศรีสูญเปล่า
หาเอาตากแดดไว้ได้ทำแท้สู่คน
อย่าได้ไลหนีเว้นแนวคองตั้งแต่เก่า
ไฟทั้งหลายสิแล่นเข้าเผาบ้านสิเสื่อมสูญเด้

มูลเหตุแห่งการทำ

มีกล่าวไว้ในหนังสือมาลัยหมื่นมาลัยแสนว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยให้ไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบและสนทนากับพระศรีอาริยเมตไตรย พระโพธิสัตว์ ผู้ซึ่งจะได้จุติกาลลงมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ทราบความประสงค์ของมนุษย์จากพระมาลัยแล้วจึงสั่งความกับพระมาลัยว่า "หากใครต้องการจะพบและเกิดในสมัยพระศรีอาริย์ ให้ทำแต่ความดี อย่าฆ่าพ่อตีแม่ สมณชี พราหมณ์ ครูอาจารย์ อย่าทำร้ายพระพุทธเจ้า อย่ายุยงสงฆ์ให้แตกกัน และต้องฟังเทศน์มหาชาติให้จบทุกกัณฑ์ในวันเดียว ท่านทั้งหลายจะได้เกิดร่วมและพบพระองค์" ด้วยเหตุนี้เอง ชาวร้อยเอ็ดจึงได้พากันทำบุญผะเหวดและไปฟังเทศน์มหาชาติทุกปี โดยกำหนดเอาวันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคมเป็นวันจัดงาน

ขั้นตอนพิธีทำ

เมื่อกำหนดวันจัดงาน ชาวบ้านจะช่วยกันหาดอกไม้มาตากแห้งไว้ ช่วยกันฝานดอกโน (ทำจากลำต้นหม่อน) งานนี้เป็นงานใหญ่ทำติดต่อกัน 3 วัน
วันแรกของงาน ตอนเย็น (บ่าย ๆ) จะมีการแห่พระอุปคุตรอบบ้านให้ชาวบ้านได้สักการบูชา แล้วนำไปประดิษฐานไว้หออุปคุต ภายในบริเวณงานเพราะเชื่อว่าเป็นพระเถระ ผู้มีฤทธิ์ นิรมิตกุฏิอยู่กลางแม่น้ำมหาสมุทร สามารถขจัดเภทภัยทั้งมวลได้
วันที่ 2 ของงานเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง แต่ละคุ้มวัดจะจัดขบวนแห่ แต่ละกัณฑ์ทั้ง 13 กัณฑ์แห่รอบเมือง ตอนเย็นมีมหรสพสมโภช ในวันที่ 2 ที่ 3 ชาวร้อยเอ็ดจะมี โรงทานเลี้ยงข้าวปุ้นบุญผะเหวด ผู้คนที่มาในงานกินได้ตลอดเวลา (ฟรี) มีชาวบ้าน ร้านค้า และ หน่วยงานราชการมาตั้งโรงทานมากมาย
วันที่ 3 ของงานเริ่มตั้งแต่เช้ามืด ประมาณตี 4 ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวมาปั้นเสียบไม้จำนวน 1,000 ก้อน เพื่อเอาบูชากัณฑ์เทศน์ คาถาพัน เรียกว่า"ข้าวพันก้อน" ชาวบ้าน จะพากันแห่ข้าวพันก้อนรอบศาลาวัด มีหัวหน้ากล่าวคำบูชา ดังนี้ "นะโม นะไม จอมไตรปิฎก ยกออกมาเทศนาธรรม ขันหมากเบ็งงานสะพาส ข้าวพันก้อนอาดบูชา ซาเฮาซา สามดวงยอดแก้ว ข้าไหว้แล้วถวายอาดบูชา สาธุ" ว่าดังนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ 3 จบ แล้วนำขึ้นไปศาลาโรงธรรม แล้วญาติโยมพากันทำวัตรเช้า อาราธนาศีลอาราธนาเทศน์ โดยอาราธนาเทศน์พระเวสโดยเฉพาะ การอาราธนาเทศน์พระเวสนั้น ถ้าไม่ต้องว่ายาวจะตัดบทสั้นๆ ก็ได้ ให้ขึ้นตรง "อาทิกัลยาณังฯ เปฯ อาราธนัง กโรม" เท่านี้ก็ได้
แล้วพระสงฆ์จะเริ่มเทศน์สังกาด เป็นการพรรณนาอายุกาลของพระพุทธศาสนาเริ่มแต่ต้นจนถึงอันตรธาน เมื่อเทศน์สังกาดจบแล้วจึงเริ่มเทศน์กัณฑ์ทศพรไปจนจบนครกัณฑ์ อันเป็นกัณฑ์ที่ 13 เทศน์แต่เช้ามืดไปจนค่ำ จบแล้วจัดขันขอขมาโทษพระสงฆ์ให้พรเป็นเสร็จพิธี ในวันที่ 3 นี้เอง ชาวบ้านชาวเมืองจะแห่กัณฑ์หลอนมาร่วมถวายกัณฑ์เทศน์ตลอดทั้งวัด กัณฑ์เทศน์จะมี 2 ลักษณะ
กัณฑ์หลอน เป็นการแห่กัณฑ์เทศน์มา ถึงบริเวณที่พระกำลังเทศน์ก็ถวายกัณฑ์เทศน์โดยไม่เจาะจงว่าจะเป็นพระสงฆ์รูปใด
กัณฑ์จอบ เป็นกัณฑ์เทศน์ที่กลุ่มผู้ถวายปรารถนาจะถวายเฉพาะภิกษุที่ตนชอบ เคารพศรัทธา จึงมีการส่งคนไปสอดแนมว่าขึ้นเทศน์หรือยัง ภาษาอีสานเรียกว่า "จอบ" แอบดู จึงเรียกกัณฑ์เทศน์ประเภทนี้ว่า "กัณฑ์จอบ"
เนื้อหากัณฑ์เทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์โดยย่อมาเล่าแบบเบา ๆ บ้าน ๆ มีดังนี้
1.กัณฑ์ทศพร ว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าหวนกลับบ้านเกิดเมืองนอนคือเมืองกบิลพัสดุ์ อยู่วัดต้นไทรย้อย ได้แสดงฤทธิ์แก่มวลญาติเกิดฝนตกลงมาห่าใหญ่ พระสาวกเห็นเป็นอัศจรรย์ได้ถามและพระองค์ก็เล่านิทานเมื่อครั้งเกิดเป็นพระเวสสันดร
2. กัณฑ์หิมพานต์  ว่าด้วยเรื่องเทพธิดาลงมาเกิดเป็นลูกกษัตริย์มัทราชได้ชื่อว่า ผุสดี พออายุ 16 ปีได้แต่งงานกับพระเจ้ากรุงสญชัยเมืองสีพี เกิดมีครรภ์พอครบ 10 เดือนพระนางผุสดีก็คลอดพระโพธิสัตว์นามว่าพระเวสสันดร มีช้างคู่บารมีชื่อปัจจัยนาเคน พออายุ 16 ปีก็แต่งงานกับพระนางมัทรี มีลูกน้อยชื่อชาลีและกัณหา
    ต่อมาเมืองกลิงคะเกิดข้าวยากหมากแพง ชาวเมืองมาขอช้างจากพระเวสสันดร  พระองค์ให้ทานช้าง  ทำให้ชาวเมืองไม่พอใจไปขอพระเจ้ากรุงสณชัยให้เนรเทศพระเวสสันดรไปเขาวงกต
3. กัณฑ์ทานกัณฑ์  ว่าด้วยเรื่องพระมารดาร้องขออภัยโทษพระเวสสันดรแต่ผิดหวัง  พระเวสสันดรให้ทานใหญ่แล้วขออำลาไป
4. กัณฑ์วนปเวสน์  ว่าด้วยเรื่อง 4 กษัตริย์เดินดงไปเขาวงกต แคว้นเจตราช พระเจ้าเจตราชสั่งให้พรานเจตบุตรรักษาด่านไว้ไม่ให้ผู้ใดเข้าไปรบกวนพระเวสสันดร
5 . กัณฑ์ชูชก  ว่าด้วยเรื่องเฒ่าชูชกขอทานได้เอาไปฝากเพื่อน  พอมาทวงคืนเพื่อนได้ใช้เงินหมดแล้วเลยยกลูกสาวชื่ออมิตตดา  ต่อมานางให้ชูชกไปขอชาลีกัณหาเพื่อเอามาเป็นทาสรับใช้
6 . กัณฑ์จุลพน ว่าด้วยเรื่องป่าน้อยชูชกไปเจอพรานเจตบุตรลวงให้เชื่อว่านำสารของพระเจ้ากรุงสณชัยมาส่งให้พระเวสสันดรเพื่อกลับคืนพระนครและพรานป่าก็เชื่อด้วยนะ
7 . กัณฑ์มหาพน  ว่าด้วยเรื่องป่าใหญ่ ที่ชูชกไปพบพระอจุตฤาษีลวงว่าเป็นนักบวชจะมาคุยธรรมะกับพระเวสสันดร พระฤาษีก็หลงเชื่อให้ที่พักค้างคืนซ้ำบอกแนะนำเส้นทาง ไปเขาวงกตด้วย
8 . กัณฑ์กุมาร  ว่าด้วยเรื่อง ชูชกไปถึงที่อยู่พระเวสสันดรช่วงพระนางมัทรีไปป่าหาผลไม้ก็รีบไปขอสองลูกน้อย ทั้งชาลีและกัณหาได้ยินพากันหนีลงไปในสระบัวบังกายไว้ พระองค์ไปเรียกหาเอามายกให้ชูชก
9 . กัณฑ์มัทรี  ว่าด้วยเรื่อง พระอินทร์สั่งให้เทวดาแปลงกายมาเป็น 3 เสือขวางทางไม่ให้พระนางมัทรีกลับมาทันเหตุการณ์การยกลูกให้เป็นทาน เมื่อกลับมาถึงหาลูกน้อยไม่พบ พระเวสสันดรก็ไม่ตอบ  พระนางเป็นลมสลบเมื่อฟื้นขึ้นมาพระเวสสันดรเลยบอกความจริง
10 . กัณฑ์สักกบรรพ ว่าด้วยเรื่องพระอินทร์แปลงกายเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี เมื่อพระเวสสันดรยกให้แล้วก็ฝากไว้ให้รับใช้พระเวสสันดรตามเดิมแล้วปรากฏตนเป็นพระอินทร์
11 . กัณฑ์มหาราช  ว่าด้วยเรื่องชูชกพาชาลีกัณหาเดินดงหลงเข้าไปกรุงสีพีเพราะเทวดาดลใจ พระเจ้าปู่เจ้ายายไถ่เอาหลานไว้ พร้อมเลี้ยงดูชูชก แกกินมากจนท้องแตกตาย ฝ่ายพระเจ้ากรุงสญชัยได้จัดกองทัพไปอัญเชิญพระเวสสันดรกลับคืนวังและชาวเมืองกลิงคะก็คืนช้างคู่บารมีพอดี
12 . กัณฑ์ฉกษัตริย์  ว่าด้วยเรื่อง 6 กษัตริย์มาพบกันเกิดสลบไปทั้งหมด  ร้อนถึงพระอินทร์รู้เหตุเลยบันดาลให้ฝนตกใหญ่ ( ฝนโบกขรพรรษ ) เมื่อทั้งหมดฟื้นคืนชีพแล้วได้ขออภัยต่อพระเวสสันดรและเชิญเข้าไปปกครองกรุงสีพี
13 . กัณฑ์นครกัณฑ์  ว่าด้วยเรื่องผลแห่งทาน  ผลแห่งศีล  และผลแห่งพระบารมี 30 ทัศ ของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ เมื่อกลับมาถึงกรุงสีพีแล้วบังเกิดฝนใหญ่ตกลงมาสร้างความชุ่มชื่นร่มเย็นแก่ชาวเมืองสีพี
พระเวสสันดรครองนครสีพีจนอายุ 120 ปีจึงสวรรคต ไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อว่าสันตุสิต อยู่สวรรค์ชั้นดุสิตก่อนที่จะมาเกิดเป็นพระสิทธัตถะกุมารนั้นแล.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น